ยุคสุโขทัยถึงอยุธยาตอนต้น
       
       
       ล่าสุดในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปี ชลาชล เจ้าตัวถึงกับลงทุนลงแรงบรรจงเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกคนที่มาร่วมงานอย่างสุดอลังการ ณ ห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน
       

       ครั้นเมื่อเวลาแห่งความประทับใจเริ่มขึ้น เจ้าภาพได้จัดให้ทุกคนอิ่มเอมกับรสชาติของอาหาร ไปพร้อมๆ กับการขับขานเสียงเพลงอันไพเราะจากศิลปินกิตติมศักดิ์ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็กที่มาร่วมสร้างสีสันให้กับงาน

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
       จนมาถึงช่วงไฮไลต์ของงานอันเกิดมาจากความภูมิใจในวิชาชีพ ในขณะที่เขากำลังศึกษาปริญญาโทที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นั้น เขาได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับทรงผม และได้นำผลงานอันภาคภูมิใจนั้นมาใช้ประกอบในการแสดงละครเพลง “Your head is your crowning” ที่บอกเล่าเรื่องราวของทรงผมว่ามีวิวัฒนาการและมีความสำคัญในแต่ละยุคสมัยต่างๆ ของบ้านเมืองอย่างไรบ้าง
       
       เริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยในยุคที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ดั่งคำที่ว่า “ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักค้าเงือนทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส” สาเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนในสมัยสุโขทัยล้วนตกแต่งร่างกายอย่างวิจิตรกะการตา โดยมีสตรีในราชสำนักเป็นต้นแบบแห่งความประณีตงดงาม
       
       จากหลักฐานภาพเขียนในวัดศรีชุม ที่แสดงให้เห็นว่าสตรีในยุคสมัยสุโขทัย ไว้ผมยาวเกล้ามวยมุ่นอยู่กลางศีรษะ มีรัดเกล้า เกี้ยว หรือพวงมาลัยสวมอยู่ ซึ่งเรียกกันว่า “โซงโขดง”
       


ทรงผมสมัย ร.4- ร.5
       ต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้น สตรีในราชสำนักยังคงแบบแผนการไว้ผมทรงเกล้ามวยสูงอยู่เช่นเดิม จะมาเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมกันอีกครั้งในยุคที่บ้านเมืองลุกเป็นไฟด้วยเพลิงสงคราม บรรดาผู้หญิงจึงต้องตัดผมสั้นเพื่อสะดวกแก่การออกรบ
       
       เพลิงสงครามของอยุธยาตอนปลายส่งผ่านมาถึงตอนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บ้านเมืองเข้าสู่ยุคก่อร่างสร้างเมืองใหม่ ประเทศชาติยังมิได้สงบนัก ดังนั้น สตรีไทยจึงยังคงไว้ผมทรงปีก ปล่อยจอนหูยาวไว้ทัด ที่นิยมต่อเนื่องมาจากอยุธยาตอนปลาย
       


ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม
       ทรงผมของสตรีไทยเริ่มปฏิวัติอีกครั้งเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ 4-5 เนื่องเพราะอิทธิพลของชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาแพร่กระจาย โดยรัชกาลที่ 4 ทรงจ้างแหม่ม แอนนา เลียวโนเวนส์ ให้เข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้กับเจ้านายเล็กๆ ในพระบรมมหาราชวัง และสตรีในยุคนั้นที่เคยไว้ผมทรงดอกกระทุ่มก็เริ่มจะเปิดรับอิทธิพลตะวันตกมากขึ้น มีการเปิดร้านตัดผมบริเวณถนนบำรุงเมือง มีการนำเทคนิคทางด้านทรงผมจากตะวันตกเข้ามาช่วย เช่น การดัดผมด้วยคีมอังความร้อนจากถ่าน และคีมดัดผมไฟฟ้า โดยทำทรงผมลอน ตามอย่างตะวันตก ขณะเดียวกัน สังคมในยุคนั้นก็เปิดโอกาสให้ผู้หญิงแต่งตัวสวย และเริ่มออกงานสังคมมากขึ้น
       

       พอมาถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการปฏิวัติวัฒนธรรมขนานใหญ่ เพื่อพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมอารยะประเทศ รัฐจึงออกกฎหมายมากมาย เกี่ยวกับการแต่งกาย โดยเฉพาะ ทรงผม และในยุคนี้เองที่รัฐออกกฎหมายให้ อาชีพช่างทำผมเป็นอาชีพสงวน อันเป็นจุดเปลี่ยนของช่างผมไทย ที่ทำให้มีการพัฒนาฝีมือในด้านต่างๆ ไปอีกมากมาย
       


ยุค K-pop
       และด้วยกฎหมายข้อนี้เองจึงทำให้ช่างผมไทยได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีการสร้างสรรค์เทคนิคเฉพาะตัว จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเลียนแบบได้ จนทำให้ช่างผมชาวไทยได้รับการยอมรับและยกย่องว่าเป็นเลิศ จากช่างผมทั่วโลก โดยเฉพาะเทคนิค ในการเกล้าผม อย่างในช่วงที่ อาภัสรา หงสกุล ที่เกล้าผมเข้าประกวดจนพิชิตตำแหน่ง นางงามจักรวาล ส่งผลให้ทรงผมเกล้าเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ และกลายเป็นทรงผมทรงบังคับในการประกวดนางสาวไทยตราบมาจนถึงปัจจุบัน
       
       ทว่า ในปัจจุบันนี้อิทธิพลของญี่ปุ่นหรือเกาหลีเข้ามาในประเทศไทย จึงทำให้แฟชั่นทรงผมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และการเปลี่ยนแปลงนี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างผมไทยได้พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกไปสู่สายตาชาวโลก

สมศักดิ์ ชลาชล