ทุกวันนี้จุดประสงค์ของการสวมแว่นกันแดดเบี่ยงเบนไปกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับกายหรือให้เข้ากับแฟชั่นเสื้อผ้าเท่านั้นซึ่งแว่นที่ผลิตจากวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานจะไม่สามารถป้องกันรังสียูวีไม่เพียงทำให้การมองภาพผิดเพี้ยน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่รถ ทำให้กล้ามเนื้อตาหรือประสาทตาล้า เกิดอาการข้างเคียง วิงเวียนศีรษะตามมา ที่สำคัญ หากใส่เป็นเวลานานยังเสี่ยงเกิดโรคต้อเนื้อ ต้อลม หรือต้อกระจกได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแว่นกันแดดที่ใช้ได้มาตรฐานหรือไม่
เช็คคุณภาพแว่น
ก่อนซื้อทุกครั้งควรดูใบแจ้งคุณภาพว่าแว่นทำจากวัสดุชนิดใดผู้ที่มีความจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับแสงแดดจ้า เช่น ขับรถในเวลากลางวัน เล่นกีฬาหรือทำงานกลางเปลวแดด ควรเลือกแว่นกันแดดชนิดโพลาลอยด์ ซึ่งมีส่วนประกอบของโพลาไรซ์เพลต มีคุณสมบัติป้องกันแสงที่สะท้อนผ่านเลนส์ ไม่ทำให้สายตาพร่ามัว ทั้งยังช่วยตัดแสงที่เข้ามากระทบกับดวงตาได้ดีอีกด้วย
ป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้หรือไม่ ดูจากค่า CE บนฉลากที่ทำกับแว่น ตามหลักฐานขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา กำหนดไว้ว่า แว่นกันแดดที่ได้มาตรฐานอย่างน้อยต้องสามารถป้องกัน UVA ได้ 95 เปอร์เซนต์ และ UVB 99 เปอร์เซ็นต์
กรองแสงได้กี่เปอร์เซ็นต์ หากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความสว่างมาก เช่น นักปีนเขาควรเลือกเลนส์ที่สามารถลดความเข้มแสงได้สูงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการใช้งานทั่วๆไป เช่น การเดินเล่นตามชายหาดหรือขับรถ เลือกเลนส์ที่ตัดแสงได้ 70-90 เปอร์เซ็นต์ ก็นับว่าเพียงพอแล้ว
เลนส์ต้องไม่ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวหรือกระจายสีรุ้ง วิธีการตรวจสอบความบิดเบี้ยวทำได้ง่ายๆ โดยการจ้องมองเลนส์ข้างหนึ่งไปยังภาพวัตถุที่เป็นเส้น(เช่น แนวเส้นกระเบื้องปูพื้น) จากนั้นขยับแว่นช้าๆ เลนส์ที่ดีต้องไม่ทำให้เส้นตรงนั้นเปลี่ยนเป็นคดงอในขณะขยับแว่น